share

มนุษย์อาจต้องกิน 'แมลง' แทนเนื้อ

Last updated: 19 Mar 2024
116 Views
มนุษย์อาจต้องกิน 'แมลง' แทนเนื้อ
เวลาพูดถึง จิ้งหรีด ในฐานะอาหาร เรามักจะนึกถึงผลิตภัณฑ์แมลงทอดทั้งหลายที่มักขายตามรถเข็น หรือจิ้งหรีดตัวๆ ชั่งกิโลขายในตลาดใกล้บ้าน แต่จริงๆ แล้ว จิ้งหรีด คืออีกหนึ่งวัตถุดิบที่ถูกมองว่าจะกลายเป็น อาหารแห่งโลกอนาคต ที่ได้รับความสนใจและคนทั่วโลกจะหันมาเลือกกินแทนโปรตีนแบบเดิมๆ และที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกคือ ไทย อาจสามารถเป็น ฮับ ของอาหารแห่งอนาคตตัวนี้ได้ด้วย แต่ทำไม จิ้งหรีด ถึงเป็นอาหารแห่งอนาคตและไทยทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อจะเป็นฮับของโปรตีนจิ้งหรีดแห่งโลกอนาคต [ โปรตีนจิ้งหรีด กับ อาหารแห่งอนาคต ] หลายๆ คนอาจจะมีคำถามว่า แล้ว จิ้งหรีด กลายเป็นอาหารแห่งอนาคตตั้งแต่เมื่อไรและอะไรทำให้เจ้าของเสียงร้องยามค่ำคืนในชนบทไทยมีความสำคัญขึ้นมาบนเวทีโลก ในปี 2018 ประชากรโลกมีจำนวน 7,600 ล้านคน ในปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนทะลุ 10,000 ล้านคน เมื่อประชากรมากขึ้น ความต้องการอาหารก็จะเพิ่มขึ้น รายงานของ AT Kearney บริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา บอกว่า ภายในปี 2050 ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้น 56% โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ในช่วง 40 ปีจากปี 2010 จนถึง 2050 จะเพิ่มขึ้นถึง 88% แน่นอนว่า การทำปศุสัตว์มีต้นทุน เพื่อให้มีเนื้อสัตว์พอบริโภคในอีก 30 ปีข้างหน้า จะต้องมี ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเป็น อาหารสัตว์ เพิ่มขึ้น โดยเราจะต้องมีทุ่งหญ้าขนาดเท่าประเทศอินเดีย และใช้เนื้อที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่เกษตรกรรมโลกเพื่อทำปศุสัตว์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าในอนาคต โปรตีน จากเนื้อสัตว์จะต้องใช้ต้นทุนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมหาศาล นอกจากนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ คาดว่า ถ้าเรายังคงผลิตอาหารได้ในอัตรากำลังการผลิตแบบปัจจุบัน และไม่มีอาหารชนิดใหม่ๆ เข้ามารองรับจะมีประชากรโลกราว 1,000 ล้านคน ประสบกับความอดอยาก ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันไปหาโปรตีนอื่นๆ ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อจากพืช (Plant-based Meat) เนื้อเพาะเลี้ยงจากห้องแลป หรืออีกหนึ่งตัวเลือกคือ แมลง
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำ แมลง ในฐานะแหล่งอาหารทางเลือกใหม่ของโลก ด้วยสาเหตุสำคัญๆ 5 อย่าง คือ 

1) ให้โภชนาการสูง ให้โปรตีน ไขมัน และวิตามินให้โปรตีนสูงกว่าเนื้อวัว
2) ไม่ต้องใช้พื้นที่และน้ำมาก จิ้งหรีดครึ่ง กก. ใช้น้ำ 1 แกลลอน เลี้ยงวัวครึ่ง กก. ใช้น้ำ 2 พันแกลลอน
3) ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ลงทุนน้อย สามารถเลี้ยงในชนบทได้
4) สร้างก๊าซมีเทนต่ำ ลดต้นเหตุก๊าซเรือนกระจก
5) มีอัตราการแลกเนื้อต่ำ คือ ใช้อาหาร 2 กก. เลี้ยงแมลง 1 กก. แต่วัว 1 ก.ก.ต้องใช้อาหาร 8 กก.



จึงไม่แปลกที่เมื่อคำนึงถึงความยั่งยืนและความเป็นไปได้แล้ว แมลง จะถูกมองเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่จะขึ้นมามีบทบาทสำคัญแทนเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่เป็นที่นิยมมาตลอด โดยเฉพาะแมลงที่มีงานวิจัยรองรับว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ มีทั้งโปรตีนและกากใยที่ดีต่อร่างกาย และนิยมนำไปแปรรูปเป็นโปรตีนรูปแบบหลากหลายอยู่แล้วอย่าง จิ้งหรีด
[ ตลาดแมลงโลกใหญ่โตขนาดไหน ทำไมไทยต้องเป็นฮับ ]

ตลาดแมลงโลกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์บอกว่า ปัจจุบันตลาดแมลงทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท (400 ล้านเหรียญสหรัฐ) และคาดในปี 2027 ตลาดอาหารโปรตีนจากแมลงจะมีมูลค่าสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาท (2,068 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เองก็บอกว่า ตั้งแต่ปี 2018-2023 ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกจะขยายตัว 23.8% และจะมีมูลค่ามากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ตลาดสำคัญหลายๆ แห่งของโลกเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับโปรตีนจากแมลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน อย่างเช่น EU ที่ประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel food) ตั้งแต่ 4 ปีก่อน ทำให้การนำเข้าสามารถทำได้ง่ายขึ้น

เรียกว่าเป็นตลาดแมลงเป็นตลาดที่กำลังเติบโตต่อเนื่องและมีอนาคตอย่างแน่นอน ทำให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนไทยที่เชื่อว่า ไทยได้เปรียบในการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกแมลง พยายามผลักดันไทยสู่ ฮับจิ้งหรีดโลก ความได้เปรียบของไทย คือ ภูมิประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น เป็นแหล่งอาศัยของแมลงจำนวนมาก และมีแมลงที่กินได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ อาทิ ตั๊กแตน จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ หนอนดักแด้ และด้วงสาคู

รวมถึงมีความสามารถในแปรรูปหลากหลายชนิด อาทิ จิ้งหรีดกระป๋อง ข้าวเกรียบบดจากจิ้งหรีด และน้ำพริกจิ้งหรีดตาแดง หรือแม้แต่โปรตีนผงสำหรับใส่ลงในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเติมโปรตีน หรือโปรตีนผงสำหรับรับประทานแบบเวย์โปรตีน

ข้อมูลปี 2020 บอกว่า ไทยมีแปลงใหญ่จิ้งหรีด 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก 469 รายที่มีกำลังการผลิตกว่า 1.1 พันตันต่อปี พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย

โดยมีผู้เล่นใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดหวังเป็นผู้ผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดเบอร์หนึ่งของไทย และดันไทยขึ้นฮับโปรตีนจิ้งหรีดโลก อย่างเช่น ไทย เอนโท ฟู้ด บริษัทสตาร์ทอัปไทยที่เตรียมจะเดินเครื่องผลิตด้วยกำลังการผลิต 1,200 ตันต่อปีในช่วงปลายปีนี้ เพื่อส่งออกแบบ B2B และ B2C ไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 70%

โดย ไทย เอนโท ฟู้ด อธิบายว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตยังไม่สูงมากนัก เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดยังคงมีจำกัดและไม่สามารถขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วได้เท่าที่ต้องการ แต่คาดว่าหลังจากเดินเครื่องส่งออกเรียบร้อยแล้ว จะสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดเพิ่มขึ้น

ความท้าทายของการเป็น ฮับโปรตีนจิ้งหรีดโลก ตอนนี้หลักๆ จึงมีอยู่ 2 อย่าง คือ ทำให้โปรตีนแมลงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดโลก และผลักดันห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยง ธุรกิจขนาดย่อมที่เป็นผู้แปรรูป ไปจนถึงผู้ส่งออกให้เติบโตทันตลาดและเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ในตลาดก่อนวันที่โปรตีนจิ้งหรีดหรือโปรตีนจากแมลงจะกลายเป็นแหล่งอาหารหลักของโลกในที่สุด






ที่มา
https://www.bangkokbanksme.com/.../thai-cricket-protein... https://mgronline.com/business/detail/9640000088461 https://www.exim.go.th/.../7411/enews_october2016_tip.html https://india.mongabay.com/.../explainer-eating-insects.../ https://www.theguardian.com/.../if-we-want-to-save-the...





Related Content
Networking of food industry for discuss future trends in the food industry and open opportunities for business cooperation between Thai and Japanese companies.
งานสัมมนา "ยกระดับผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดสู่สากล ด้วยมาตรฐานและนวัตกรรม"
HEALTHY FOOD ASIA 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy